เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

13 พฤษภาคม 2567
เปิด 10 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยพาเหรดติดลบฉุดส่งออกเดือนมี.ค.ทรุด

ส่งออกมี.ค.ร่วงแรง ลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน พบส่งออกไป 10 ตลาดสำคัญของไทยติดลบถ้วนหน้า ยกเว้นตลาดสหรัฐ ทวีปออสเตรเลียและกลุ่มประเทศ CLMV ยังเป็นบวก จับตา ผลไม้ช่วยชาติ เดือนเม.ย.ดันตัวเลขส่งออกไทยกลับเป็นบวกอีกครั้ง

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย หรือการ ส่งออก มี.ค. 67 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% จากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่

อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้าทั้งนี้ การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี 2567 ติดลบ 0.2 %

การส่งออกในเดือนมี.ค.ที่ติดลบ 10.9% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แม้การติดลบจะมาจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเจาะลึกการส่งออกในตลาดสำคัญที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทยก็พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยติดลบถ้วนหน้า ยกเว้นตลาดสหรัฐที่ขยายตัว 2.5 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน  ทวีปออสเตรเลียขยายตัว 13.5 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกันและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว 0.5 % ต่อเนื่อง 3 เดือน

โดยตลาดสำคัญของไทยในเดือนมี.ค.ที่ติดลบล้วนเป็นตลาดสำคัญและเป็นตลาดใหญ่ของไทยทั้งสิ้น  ได้แก่

ตลาดจีน  ติดลบ  9.7 %   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ  19.3 % สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้นตลาดสหภาพยุโรป (27) ติดลบ 0.1 %  โดยกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน  สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดอาเซียน (5) ติดลบ  26.1 %   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ตลาดเอเชียใต้ ติดลบ 6.1%   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ตลาดตะวันออกกลาง ติดลบ  7.3 %    สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น

ตลาดแอฟริกา ติดลบ  11.9   สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาติดลบ  10.2 %  สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ  14.2%  กลับมาติดลบในรอบ 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ตลาดสหราชอาณาจักร ติดลบ  19.3%    สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และและส่วนประกอบ รถปิคอัพ รถบัสและรถบรรทุก และยางยานพาหนะ เป็นต้น

จากข้อมูลการส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทยส่วนใหญ่ติดลบ จึงไม่แปลกที่การส่งออกในเดือน มี.ค.จะติดลบสูงถึง 10.9 % รวมทั้งการส่งออกผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนที่ล่าช้าออกไป 1 เดือนจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดช้าจากสภาพอากาศร้อน ส่ผลให้ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.ลดลง อย่างไรก็ตามในเดือนเม.ย.ทางกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า การส่งออกไทยจะกลับมาบวกอีกครั้ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด

ล่าสุด 2 รัฐมนตรีพาณิชย์ “นายภูมิธรรม เวชชชัย ”นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้นำทีมพาณิชย์เดินทางไปยังประเทศจีนและเวียดนาม เพื่อพบปะผู้บริหารด่าน

โดยนายภูมิธรรม ได้เดินทางไปสำรวจ “ด่านบ่อเต็น” สปป.ลาว และ “ด่านโม่ฮาน” ของจีน  ขณะที่ นายนภินทร เดินทางไปสำรวจ “ด่านสากลหูหงิ” ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่รถขนส่งผลไม้จากไทยมาใช้บริการก่อนที่จะเข้าสู่ “ด่านโหย่วอี้กวน” ของจีน และ “ด่านรถไฟด่งดัง” ซึ่งเป็นด่านที่เชื่อมต่อไปยัง “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของจีน  ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางสะดวกในการขนส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหา ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่สุดของ “ผลไม้สด” คือ จีน มีสัดส่วนการส่งออกถึง 91% 

ทั้งกระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากผลไม้ไทยออกสู่ตลาดแล้วจะดันตัวเลขการส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวกได้มากน้อยแค่ไหน


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.